วันพุธที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

บทที่4 หลักการออกแบบนิทรรศการ

ความหมายของการออกแบบ
........การออกแบบตรงกับภาษาอังกฤษว่า "design" เป็นกระบวนจัดองค์ประกอบในทุกสาขาวิชา ให้มีลักษณะแปลกใหม่ สวยงาม สื่อความหมายได้ดี โดยอาศัยความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการเป็นหลักสำคัญ ในการจุดประกายความคิด

........การออกแบบหมายถึง การรู้จัดวางแผนเพื่อจะได้ลงมือกระทำตามที่ต้องการ และรู้จักเลือกวัสดุ วิธีการ เพื่อทำตามที่ต้องการนั้น โดยให้สอดคล้องกับลักษณะรูปแบบ และคุณสมบัติของวัสดุตามความคิดสร้างสรรค์
........สรุป การออกแบบหมายถึง ความคิดคำนึงหรือจินตนาการเกี่ยวกับความสัมพันธ์โดยรวม ขององค์ประกอบย่อยกับโครงสร้างของแต่ละเรื่อง นักออกแบบจะพยายามสร้างทางเลือกหลายๆ แบบ โดยการเปลี่ยนคุณสมบัติขององค์ประกอบต่างๆ เช่น ขนาด พื้นผิว ตำแหน่ง ทิศทาง รูปทรง รูปร่าง เพื่อให้ได้โครงสร้างที่เหมาะสม

คุณค่าของการออกแบบ
1. เพื่อประโยชน์ใช้สอย เช่น การออกแบบเครื่องไฟฟ้า เครื่องครัว
2. เพื่อประโยชน์ในการติดต่อสื่อสาร เช่น หนังสือพิมพ์
3. เพื่อคุณค่าทางความงาม เช่น ภาพเขียน อนุสาวรีย์ ภาพปั้น

จุดมุ่งหมายของการออกแบบ
........1. การออกแบบเพื่อประโยชน์ใช้สอย เป็นกระบวนการคิดในการแก้ปัญหา โดยการจัดองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสม นักออกแบบควรคำานึงถึงสิ่งต่อไปนี้
..........- หน้าที่หรือประโยชน์ใช้สอย
..........- ความประหยัด
..........- ความทนทาน
..........- โครงสร้าง
..........- ความงาม
........2. การออกแบบเพื่อความงามและความพอใจ เป็นการออกแบบที่นิยมใช้กับศิลปกรรม หรืองานวิจิตรศิลป์ทุกแขนง ได้แก่ จิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม ดนตรี นาฏศิลป์และวรรณกรรม ผลงานเหล่านี้เกิดจากการถ่ายทอดความงาม ตามความต้องการของอารมณ์และก่อให้เกิดความพอใจ

วัตถุประสงค์ของการออกแบบนิทรรศการ
1. เพื่อกระตุ้นความสนใจ ให้ได้รับความรู้และประสบการณ์จากการจัดนิทรรศการ
2. เพื่อเป็นการสร้างสรรค์รูปแบบของสื่อต่างๆ และเนื้อหาให้มีลักษณะกระชับ สวยงามตรงประด็น เข้าใจง่าย
3. เพื่อเป็นการกระตุ้นและดึงดูดความสนใจให้ได้รับข้อมูล ข่าวสาร
4. การออกแบบที่ดีเป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ดูแปลกตา
5. เป็นการประหยัดเวลา งบประมาณ และแรงงานในการลองผิดลองถูกกับสถานที่ ซึ่งเป็นการเสี่ยงต่อความล้มเหลว

หลักการออกแบบในการจัดนิทรรศการ
1.ความเป็นเอกภาพ
........เอกภาพ (Unity) หมายถึง ผลรวมขององค์ประกอบที่อยู่ร่วมกันได้อย่างเหมาะสม แสดงให้เห็นถึงความเป็นหน่วยเป็นกลุ่ม ทำให้ผู้ชมรับรู้เนื้อหาได้ง่ายขึ้น ปัจจัยที่ทำให้เกิดเป็นเอกภาพ เช่น
........1.1 ความใกล้ชิด เป็นการจัดองค์ประกอบให้อยู่ใกล้กันเป็นกลุ่ม ทำให้สาระดูเด่นเป็นจุดสนใจ อำนวยความสะดวกในการรับรู้
........1.2 การซ้ำ เป็นการกำหนดให้องค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่ง ที่มีลักษณะเหมือนกันปรากฎขึ้นหลายครั้งในตำแหน่งที่ทิศทางเหมือนหรือต่างกัน
........1.3 ความต่อเนื่อง เป็นลักษณะของสิ่งเร้าที่สามารถดึงดูดสายตาให้เคลื่อนที่ จากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่งด้วยความราบรื่น
........1.4 ความหลากหลาย รูปแบบของความเป็นเอกภาพ ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับองค์ประกอบที่มีลักษณะเดียวกัน มีความกลมกลืนกัน แต่ความหลากหลายต้องเป็นรูปแบบที่มีจุดมุ่งหมายแน่นอน
........1.5 ความกลมกลืน มีลักษณะใกล้เคียงกัน ให้ความรู้สึกราบรื่น สบายตา ไม่ขัดข้อง
2. ความสมดุล
........ความสมดุล (Balance) เป็นการจัดองค์ประกอบให้สอดคล้องกับเนื้อหาและวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ชมคล้อยตาม ความสมดุลช่วยให้ผู้ชมรู้สึกสบายตา ไม่อึดอัด
........2.1 ประเภทของความสมดุล
........- ความสมดุลแบบสมมาตร คือ ความสมดุลที่มีลักษณะซ้ายขวาเท่ากัน มีปริมาณน้ำหนักเท่าๆ กัน ความสมดุลลักษณะนี้ให้ความรู้สึกนิ่งเฉย มั่นคง แน่นอน จริงจัง มีระเบียบวินัย มักใช้เนื้อหาเกี่ยวกับงานราชการ ศาสนา การเมือง การปกครอง
........- ความสมดุลแบบอสมมาตร คือ ความสมดุลที่มีลักษณะการจัดองค์ประกอบซ้ายขวาไม่เท่ากัน ไม่คำนึงถึงความเท่าเทียมของขนาดและปริมาณ แต่คำนึงถึงน้ำหนักที่ถ่วงดุลเป็นสำคัญ
........2.2 ความสมดุลของสี
........- สีเขียวกับสีแดงบนพื้นสีขาว มีความเข้มของสีและปริมาณเท่ากัน
........- สีแดงกับสีเทาบนพื้นสีขาว มีความจัดของสีต่างกัน จึงต้องเพิ่มปริมาณของสีเทาให้ใหญ่ขึ้น
........- สีน้ำเงินกับสีส้มบนพื้นสีแดง สีส้มจะกลมกลืนกับสีแดงจึงต้องเพิ่มปริมาณของสีส้มให้ใหญ่ขึ้น
3. การเน้น
........เป็นการเลือกย้ำทำให้ส่วนใดส่วนหนึ่งของสิ่งเร้ามีความเข้มโดดเด่น
........- การเน้นด้วยการตัดกัน หมายถึง การจัดองค์ประกอบสำคัญของแต่ละส่วนให้มีความเข้มต่างกัน เช่น การตัดกันของพื้นผิวหยาบและผิวละเอียด
........- การเน้นด้วยการแยกตัวออกไป หมายถึง การจัดองค์ประกอบอย่างใดอย่างหนึ่งแยกตัวออกไปจากองค์ประกอบส่วนใหญ่
........- การเน้นเนื้อหาโดยรวม การจัดนิทรรศการโดยเน้นเนื้อหาภาพรวมทั้งหมด ไม่มีการเน้นจุดใดจุดหนึ่งเป็นจุดสนใจโดยเฉพาะ เนื่องจากองค์ประกอบทุกอย่างจัดให้มีคุณค่าต่อการรับรู้พอๆ กัน
........- การเน้นให้เกิดจังหวะ คำว่า "จังหวะ" หมายถึง ตำแหน่งของสิ่งเร้าที่ถูกจัดวางเป็นระยะๆ

....................................................

ไม่มีความคิดเห็น:

เยี่ยมชม blogger